อากรแสตมป์

           

              อากรแสตมป์

               ตามประมวลรัษฎากร  ให้คำนิยามของคำว่า

               " ตราสาร " หมายความว่า เอกสารที่ต้องเสียอากรตามหมวดนี้

               " แสตมป์ " หมายความว่า  แสตมป์ปิดทับหรือแสตมป์ดุนบนกระดาษ และแสตมป์ดุนบนกระดาษนี้  ให้หมายความรวมถึงแสตมป์พิมพ์ทับบนกระดาษด้วย ทั้งนี้ตามที่กำหนดลักษณะโดยกฎกระทรวง

               " ปิดแสตมป์ " หมายความว่าการปิดแสตมป์ทับกระดาษหรือการมีแสตมป์ดุนบนกระดาษ

               " ขีดฆ่า " หมายความว่า การกระทำเพื่อมิให้ใช้แสตมป์ได้อีกโดยในกรณีแสตมป์ปิดทับได้ลงลายมือชื่อ หรือชื่อห้างร้านบนแสตมป์  หรือขีดเส้นคร่อมฆ่าแสตมป์ที่ปิดทับกระดาษ  และลงวัน เดือน ปี ที่กระทำสิ่งเหล่านี้ด้วย ในกรณีแสตมป์ดุนได้เขียนบนตราสารหรือยื่นตราสาร  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประทับแสตมป์ดุนให้แสตมป์ดุนปรากฏอยู่ในด้านหน้าของตราสารนั้น

               " ปิดแสตมป์บริบูรณ์ " หมายความว่า  (1) ในกรณีแสตมป์ปิดทับ คือการได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ทับกระดาษก่อนกระทำหรือในทันที่ที่ทำตราสารเป็นราคาไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสียและได้ขีดฆ่าแสตมป์นั้นแล้ว หรือ..................

               ในการใช้อากรแสตมป์ที่มักนิยมใช้กับตราสารซึ่งเป็นเอกสารสัญญาเพื่อมีไว้เป็นหลักฐานในการนำมาฟ้องร้องกรณีมีการผิดนัดผิดสัญญากันบ่อยๆ ก็คือหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน  ดังนั้น เมื่อผู้ให้กู้จะใช้สิทธิทางศาลฟ้องร้องให้ลูกหนี้ซึ่งผิดสัญญาชำระหนี้กู้ยืม   ผู้ให้กู้ก็สมควรที่จะปิดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วนเรียบร้อยก่อนหรือในขณะที่นำสัญญากู้มาใช้ในการพิจารณาคดีก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษา  ไม่เช่นนั้นเงินที่ให้กู้ยืมไปและเงินที่ต้องจ่ายค่าทนายความไปอาจสูญเปล่า  เพราะความพลาดพลั้งของผู้ให้กู้หรือทนายความที่ดำเนินคดีให้กับท่าน  แม้จะได้ปิดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วนในภายหลังก็ตาม  ดังตัวอย่างจากคำพิพากษาศาลฎีกานี้ได้

              คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4482/2550

               การที่โจทก์ได้ปิดอากรแสตมป์ในสัญญากู้ยืมเงินครบถ้วนแล้ว  และ ประมวลรัษฎากร มาตรา 117 ให้ถือว่าเป็นตราสารที่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ แต่การปิดแสตมป์นั้น  โจทก์จะต้องกระทำก่อนหรือในขณะนำสัญญากู้ยืมเงินมาอ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งก่อนศาลชั้นต้นตัดสินชี้ขาด   เมื่อโจทก์นำสัญญากู้ยืมเงินไปปิดอากรแสตมป์หลังจากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้ว   สัญญากู้ยืมเงินย่อมใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้มิได้ดังที่บัญญัติไว้ตาม  ประมวลรัษฎากร มาตรา 118  ถือได้ว่าโจทก์มิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  โจทก์จึงฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง 

Visitors: 58,515