ค่าชดเชยที่ไม่ได้จากเฟซบุ๊ก

 

เฟซบุ๊กเป็นเหตุให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้ตามกฎหมาย

การแสดงความคิดเห็นบนสื่อสังคมออนไลน์  ซึ่งเป็นที่นิยมและมีบัญชีผู้ใช้เป็นจำนวนมากในการสื่อสารกันได้ทั่วโลกในปัจจุบัน  คงหนีไม่พ้นกับโปรแกรมแอพพลิเคชั่นชื่อว่า เฟซบุ๊ก (facebook)      การที่ลูกจ้างเขียนข้อความลงในบัญชีของตนที่มีลักษณะเป็นการระบายความคับข้องใจเกี่ยวกับนายจ้าง        ซึ่งเมื่อเฟซบุ๊ก (facebook)  เป็นโปรแกรมที่มีบุคคลอื่นสามารถเข้าถึงข้อความในการแสดงความคิดเห็นของลูกจ้างผู้เขียนได้    ก็ย่อมเข้าใจได้ว่าผู้เขียนถูกกลั่นแกล้งจากนายจ้าง  และมีนายจ้างที่เอาเปรียบลูกจ้าง    การกระทำดังกล่าวของลูกจ้างที่แสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊ก (facebook)  เป็นการจงใจทำให้นายจ้างเสียหายซึ่งเป็นเหตุให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าได้     

 

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 119 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้

(2) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 575 ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี  หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี  หรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี  ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้

 

เรื่องจริงอิงฎีกา/  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8206/2560

........เฟซบุ๊กเป็นสื่อออนไลน์สาธารณะที่ผู้ใช้งานใช้ในการติดต่อกับบุคคลอื่นและบุคคลอื่นสามารถเข้าถึงข้อความที่มีผู้เขียนลงบนเฟซบุ๊ก            และมีบุคคลภายนอกเข้ามาเขียนข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อความที่โจทก์เขียนไว้บนเฟซบุ๊ก   แม้ข้อความที่โจทก์เขียนดังกล่าวมีลักษณะเป็นการระบายความคับข้องใจของโจทก์     แต่ก็ทำให้ผู้อ่านข้อความเข้าใจว่าจำเลยกลั่นแกล้งโจทก์  จำเลยเป็นนายจ้างที่ไม่ดี  ไม่ถูกต้อง  เอาเปรียบลูกจ้าง  และจำเลยกำลังประสบปัญหาด้านการเงิน   ทั้งโจทก์ทำงานกับจำเลยมาเป็นเวลานานย่อมทราบดีว่าการเขียนข้อความดังกล่าวย่อมมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ในการบริหารของจำเลยซึ่งมีความสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการของลูกค้า   การกระทำของโจทก์จึงเป็นการทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย  ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (2)  และเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 583  จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์

Visitors: 51,640