ค่าบริการเป็นเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมหรือไม่

 

# เงินที่ไม่ใช่เงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม

หากไม่เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง โดยมีวัตถุประสงค์ของการจ่ายเพื่อเป็นค่าตอบแทนการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติของลูกจ้างที่ทำให้แก่นายจ้างก็ไม่ใช่ค่าจ้างที่ต้องนำมาคำนวณเพื่อจ่ายเป็นเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม

         

พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533

มาตรา 5 ในพระราชบัญญัตินี้

ค่าจ้าง ”  หมายความว่า เงินทุกประเภทที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติไม่ว่าจะคำนวณตามระยะเวลาหรือคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้ในวันหยุดและวันลาซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงานด้วย  ทั้งนี้ ไม่ว่าจะกำหนด คำนวณหรือจ่ายในลักษณะใดหรือโดยวิธีการใด และไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร

เรื่องจริงอิงฎีกา/ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4037 - 4038/2561

..........โจทก์เรียกเก็บเงินค่าบริการจากลูกค้าที่มาใช้บริการในอัตราร้อยละ 10 ของจำนวนเงินค่าที่พักค่าอาหารหรือค่าบริการอื่น ๆ ที่ลูกค้ามาใช้บริการ  แล้วโจทก์นำไปจัดสรรให้แก่ลูกจ้างของโจทก์นอกเหนือจากเงินเดือน (ค่าจ้าง) ที่ลูกจ้างได้รับจากโจทก์ประจำทุกเดือน  ดังนี้ การที่ลูกจ้างของโจทก์จะได้รับค่าบริการมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับจำนวนค่าใช้จ่ายของลูกค้าเป็นสำคัญ  ไม่ปรากฏว่าหากโจทก์ไม่ได้รับค่าบริการหรือได้รับจำนวนน้อยแล้ว  โจทก์ต้องจ่ายเงินเพิ่มให้แก่ลูกจ้าง  โจทก์ไม่มีส่วนได้เสียกับค่าบริการดังกล่าว การที่โจทก์เป็นผู้เรียกเก็บค่าบริการจากลูกค้าและเป็นผู้จัดแบ่งให้แก่ลูกจ้างจึงเป็นกรณีที่โจทก์ทำแทนลูกจ้างเพื่อความสะดวกและเพื่อให้กิจการของโจทก์ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย   ค่าบริการจึงมิใช่เงินของนายจ้างที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานหรือผลงานที่ลูกจ้างทำได้สำหรับระยะเวลาทำงานปกติของวันทำงาน  และมิใช่เงินที่นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลา  จึงไม่ใช่ค่าจ้างตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 5

โจทก์จ่ายค่าน้ำมันรถให้แก่ลูกจ้างที่นำยานพาหนะส่วนตัวมาใช้ในการปฏิบัติงาน  ส่วนเงินค่ากะที่ลูกจ้างจะได้รับก็มีแต่เฉพาะลูกจ้างซึ่งเข้าทำงานในเวลากลางคืนเท่านั้น  โดยโจทก์จ่ายเพื่อรักษาและสร้างแรงจูงใจของพนักงานและกำหนดอัตราขั้นสูงไว้ 1,000 บาท  ต่อเดือน  สำหรับเงินค่าเบี้ยเลี้ยงพิเศษ  โจทก์จ่ายให้แก่ลูกจ้างที่มีความสามารถในการใช้ภาษาต่างประเทศอื่นนอกเหนือจากภาษาอังกฤษ  เงินทั้งสามประเภทดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเงินสวัสดิการ  มิใช่เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงาน  หรือผลงานที่ลูกจ้างทำได้สำหรับระยะเวลาทำงานปกติของวันทำงาน  และมิใช่เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลา  มิใช่ค่าจ้างตามพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 5  เช่นกัน  ดังนั้น ค่าบริการ ค่าน้ำมันรถ ค่ากะและค่าเบี้ยเลี้ยงพิเศษจึงไม่ใช่ค่าจ้างที่ต้องนำมาคำนวณเพื่อจ่ายเป็นเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม

Visitors: 50,514