ละเมิดที่เกิดจากการร่วมเพศ

 

# การมีเพศสัมพันธ์ถือเป็นสิทธิในความเป็นส่วนตัว

การเป็นสื่อมวลชนหรือเป็นนักข่าว   อันเป็นอาชีพซึ่งต้องมีจรรยาบรรณในการนำเสนอข่าวสารข้อมูลประชาสัมพันธ์อย่างถูกต้องแท้จริงและเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย  แม้ในการนำเสนอข่าวต่าง ๆ นักข่าวจะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น  การพูด  การเขียน  การพิมพ์  การโฆษณาหรือสื่อความหมายโดยวิธีอื่น ๆ  แต่จะนำเสนอหรือเผยแพร่ข่าวที่เป็นการก้าวล่วงหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิในความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่นไม่ได้

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ   ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  อนามัยก็ดี  เสรีภาพก็ดี  ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา 423 ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป้นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ทท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การนั้น  แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้

 

เรื่องจริงอิงฎีกา/  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4893/2558      

...........การที่ชายหญิงมีเพศสัมพันธ์กันโดยความยินยอมพร้อมใจในสถานที่อันมิดชิดและเหมาะสมเป็นวิถีตามปกติของสังคมมนุษย์  และถือเป็นสิทธิในความเป็นส่วนตัว  ซึ่งได้รับการรับรองและคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช 2540  มาตรา 34 ที่บัญญัติว่า  " สิทธิของบุคคลในครอบครัว  เกียรติยศชื่อเสียง  หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวย่อมได้รับความคุ้มครอง "    ดังนั้น  แม้จำเลยทั้งสองจะเป็นสื่อมวลชน  มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น  การพูด  การเขียน  การพิมพ์  การโฆษณาหรือสื่อความหมายโดยวิธีอื่น ๆ แต่ก็หาอาจกระทำการใด ๆ ที่เป็นการก้าวล่วงหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิในความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่น   การที่จำเลยทั้งสองนำข่าวการมีเพศสัมพันธ์ของชายหญิงคู่หนึ่งซึ่งหนังสือพิมพ์ฉบับอื่น ๆ   เคยนำเสนอภาพและข่าวไปก่อนหน้านั้น  แต่ยังไม่ได้ระบุว่าชายหญิงในภาพเป็นใครมาเผยแพร่ซ้ำโดยระบุในเนื้อข่าวว่า  ชายในภาพที่กำลังมีเพศสัมพันธ์กับหญิงคนรักคือโจทก์        ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นการก้าวล่วงหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิในความเป็นส่วนตัวของโจทก์จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420
 
การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายต้องแจ้งชื่อ  ลักษณะแห่งความผิดและพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ความผิดได้กระทำลงนั้นเป็นหน้าที่ที่ผู้เสียหายต้องกระทำในการร้องทุกข์กล่าวโทษตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 123  กำหนดไว้ทั้งนี้เพื่อปกป้องสิทธิของตนจากการถูกละเมิด   จะถือว่าโจทก์ยินยอมเปิดเผยชื่อและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อสาธารณชนหาได้ไม่   ยิ่งเมื่อพิจารณาเนื้อหาข่าวที่จำเลยทั้งสองนำมาลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์พบว่ามีขอบเขตที่กว้างกว่าการเสนอข่าวการดำเนินคดีอาญาต่อผู้ที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
 
แม้โจทก์จะเป็นนักการเมือง  เป็นบุคคลสาธารณะ  แต่ก็ย่อมมีสิทธิของความเป็นส่วนตัว  มิใช่ว่าเมื่อเป็นนักการเมืองหรือบุคคลสาธารณะแล้วจะทำให้สิทธิในความเป็นส่วนตัวต้องสูญสิ้นไปทั้งหมด   ทั้งการที่จำเลยทั้งสองนำข่าวการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับหญิงคนรักซึ่งถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัวโดยแท้มาเผยแพร่ซ้ำ  ย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ  ต่อสาธารณชน  มีแต่จะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นวงกว้างมากขึ้นการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420  มิใช่การกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง   ตามมาตรา 423   โจทก์จึงไม่อาจเรียกให้จำเลยทั้งสองรับผิดในความเสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณและความเสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของตนโดยประการอื่นอันเป็นค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดตามมาตรา 423  ได้   
โจทก์คงเรียกได้เฉพาะค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวเท่านั้น
 
การที่จำเลยทั้งสองไม่เคยเสนอข่าวในทางที่ทำให้โจทก์เสียหายมาก่อนเพื่อมาเสนอข่าวหลังจากโจทก์ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่ผู้ที่นำข่าวและภาพโจทก์มีเพศสัมพันธ์กับหญิงคนรักไปเผยแพร่ก่อนหน้านั้น   
ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองยังมีจรรยาบรรณของผู้มีอาชีพสื่อมวลชนอยู่   ทั้งเนื้อข่าวบางส่วนน่าจะมีผลเป็นการปรามผู้ที่กระทำละเมิดต่อโจทก์อยู่หรือคิดจะกระทำละเมิดต่อโจทก์ให้หยุดการกระทำหรือยกเลิกความคิดที่จะกระทำนั้น  
การกระทำของจำเลยทั้งสองถือว่าไม่ร้ายแรงมากนัก    เมื่อจำเลยทั้งสองเป็นผู้หนึ่งที่กระทำละเมิดต่อโจทก์   จำเลยทั้งสองย่อมต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น   แม้จะมีบุคคลอื่นกระทำละเมิดด้วยก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับผู้กระทำละเมิดรายนั้น ๆ  มิใช่เหตุตามกฎหมายที่จำเลยทั้งสองจะยกขึ้นอ้างเพื่อให้ศาลปรับลดค่าเสียหายที่ตนต้องรับผิดลง
 
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช  2540  ก็ดี  ที่โจทก์อ้างมาในฎีกานั้นเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นโดยมีจุดประสงค์ในการที่จะควบคุมอำนาจรัฐและผดุงไว้ซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเป็นการทั่วไป  มิใช่กฎหมายที่บัญญัติกำหนดความรับผิดของบุคคลในกรณีที่มีการกระทำละเมิดกันไว้เป็นการเฉพาะแต่อย่างใดไม่  ดังนั้น  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช 2540  มาตรา 34   จะบัญญัติคุ้มครองสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว  และมาตรา 28  บัญญัติให้ผู้ถูกกระทำละเมิดสามารถยกขึ้นเพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้  และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช 2550   มีบทบัญญัติในทำนองเดียวกันนี้ก็ตาม   แต่การที่จะพิจารณาว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด    ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดสิทธิ  หน้าที่  และความรับผิดชอบระหว่างบุคคลไว้เป็นการเฉพาะ
 
Visitors: 50,515