ของหมั้น
ของหมั้น
ของหมั้นเป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนให้แก่ฝ่ายหญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิง เมื่อหมั้นแล้วของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิงทันที การที่ฝ่ายชายเพียงแต่สัญญาว่าจะส่งมอบทรัพย์สินให้เป็นของหมั้นยังไม่ถือว่าเป็นการให้ทรัพย์เป็นของหมั้น เพราะการหมั้นต้องมีการส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินให้กับหญิงไว้เป็นกรรมสิทธิ์โดยแท้จริง การที่ชายตกลงว่าจะให้ของหมั้นแก่หญิงเป็นเงิน 1,000,000 บาท แต่ฝ่ายชายได้ส่งมอบเงินให้แก่ฝ่ายหญิงเพียง 500,000 บาท เท่านั้น สำหรับเงินอีกจำนวน 500,000 บาท ตกลงว่าจะให้ในวันจัดพิธีสมรส ฝ่ายหญิงคงได้แต่เงินจำนวน 500,000 บาท ที่ตกเป็นของหมั้นเพียงเท่านี้ โดยไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องส่วนที่ฝ่ายชายยังไม่ได้ส่งมอบให้ไม่ได้
ของหมั้นที่ฝ่ายชายนำมาส่งมอบให้แก่ฝ่ายหญิงนั้นจะต้องเป็นของชายคู่หมั้นหรือเป็นทรัพย์สินที่เจ้าของทรัพย์ยินยอมให้นำมาเป็นของหมั้น หากเจ้าของไม่ได้ยินยอมอนุญาตให้นำมาเป็นของหมั้นแล้ว เจ้าของทรัพย์สินนั้นก็มีสิทธิเรียกร้องติดตามเอาคืนได้ แต่ถ้าของหมั้นเป็นเงินทองและหญิงคู่หมั้นได้รับไว้แล้วโดยสุจริตไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับการยืมของชายคู่หมั้นด้วยแล้ว ของหมั้นต้องตกเป็นสิทธิของหญิงเจ้าของเงินทองจะใช้สิทธิเรียกคืนไม่ได้
บุคคลผู้ที่จะเป็นคู่สัญญาหมั้น ไม่จำเป็นต้องมีแต่เฉพาะตัวชายและตัวหญิงคู่หมั้นเท่านั้น แต่ยังมีบุคคลผู้เป็นคู่สัญญาหมั้นอีก 3 กรณี คือ
(1) ชายหญิงที่เป็นคู่หมั้น ในกรณีที่ชายหญิงหมั้นกันเองโดยไม่ได้มีบุคคลอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ชายหญิงจึงเป็นคู่สัญญาหมั้นกันโดยลำพัง
(2) บิดามาดาของชายหญิงคู่หมั้น ซึ่งเป็นคู่สัญญาหมั้นในกรณีผู้ใหญ่ฝ่ายชายและผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงทำสัญญาหมั้นกันโดยชายและหญิงได้ให้ความยินยอม สัญญาหมั้นเกิดขึ้นโดยมีบิดามารดาทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง รวมทั้งชายและหญิงที่ให้ความยินยอมผูกพันในฐานะเป็นคู่สัญญาหมั้นโดยไม่ต้องคำนึงว่าชายหรือหญิงคู่หมั้นจะบรรลุนิติภาวะแล้วหรือไม่
(3) บุคคลผู้กระทำในฐานะเช่นบิดามารดาของชายหญิงคู่หมั้น เช่น หญิงอยู่กับป้ามาตั้งแต่คลอดเพราะบิดามารดาได้เสียชีวิตหมดแล้ว เมื่อหญิงจะทำการหมั้นป้าจะต้องเข้ามารับรู้และเข้าทำสัญญาด้วย ป้าจึงเป็นบุคคลผู้ทำการในฐานะเช่นบิดามารดาในการที่จะเป็นคู่สัญญาหมั้นได้