การหมั้น
การหมั้น
การหมั้นเป็นสัญญาซึ่งฝ่ายชายทำกับฝ่ายหญิงโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อชายกับหญิงจะทำการสมรสกัน สัญญาหมั้นจึงเทียบเท่าได้กับว่าเป็นสัญญาว่าชายจองตัวหญิงไว้ก่อนเท่านั้น
การหมั้นจะกระทำได้ต่อเมื่อเข้าเงื่อนไขแห่งการหมั้นซึ่งมีอยู่ 2 กรณี คือ
กรณีแรก เรื่องอายุของคู่หมั้น ซึ่งชายผู้ที่จะทำการหมั้นกับหญิงได้นั้นชายและหญิงคู่หมั้นตามกฎหมายกำหนดไว้ว่าต้องมีอายุอย่างต่ำ 17 ปี บริบูรณ์เท่านั้น
การหมั้นที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขเรื่องของอายุจะต้องถือว่าเป็นโมฆะเสียเปล่าเสมือนกับว่าไม่เกิดมีสัญญาหมั้นต่อกันอย่างใดขึ้น คู่สัญญาแต่ละฝ่ายมีฐานะอยู่เช่นคงเดิมเพราะไม่มีการหมั้น แต่ถ้าหากฝ่ายชายได้ให้ของหมั้นแก่ฝ่ายหญิงไปแล้ว โดยทึ่ไม่รู้ว่าหญิงคู่หมั้นมีอายุยังไม่ครบ 17 ปี บริบูรณ์ ฝ่ายชายมีสิทธิเรียกของหมั้นคืนได้ แต่ถ้าหากฝ่ายชายรู้ว่าหญิงอายุยังไม่ครบ 17 ปี บริบูรณ์ หรือชายคู่หมั้นเองอายุไม่ครบ 17 ปี บริบูรณ์เช่นกัน ฝ่ายชายไม่มีสิทธิเรียกร้องของหมั้นคืนได้ เพราะถือว่าฝ่ายชายได้ชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย
กรณีที่สอง เมื่อชายและหญิงคู่หมั้นนอกจากจะต้องมีอายุอย่างต่ำ17 ปี บริบูรณ์ ซึ่งอยู่ในฐานผู้เยาว์แล้ว การหมั้นจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากบุคคล ดังนี้
(1) บิดาและมารดา ในกรณีที่ผู้เยาว์มีทั้งบิดาและมารดา
(2) บิดาหรือมารดาเพียงคนเดียว ในกรณีที่บิดาหรือมาดาฝ่ายหนึ่งถึงแก่ความตาย หรือถูกถอนอำนาจปกครองหรือไม่อยู่ในสภาพหรือฐานที่อาจให้ความยินยอมได้หรือโดยพฤติการณ์ผู้เยาว์ไม่อาจขอความยินยอมจากมารดาหรือบิดาได้
(3) ผู้รับบุตรบุญธรรม ในกรณีที่ผู้เป็นบุตรบุญธรรม ผู้รับบุตรบุญธรรมเป็นผู้มีอำนาจให้ความยินยอม บิดามารดาโดยกำเนิดไม่มีสิทธิให้ความยินยอมได้
(4) ผู้ปกครอง ในกรณีที่ไม่มีบิดาและมารดา บิดาหรือมารดาเพียงคนเดียว ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือมีบุคคลดังกล่าวอยู่แต่ถูกถอนอำนาจปกครองไปแล้วจึงหมดสิทธิให้ความยินยอมได้อีกต่อไป หากชายและหญิงจะทำการหมั้นกันต้องมีการตั้งผู้ปกครองเสียก่อนจึงจะมาขอความยินยอมจากผู้ปกครองเพื่อทำการหมั้นได้
แบบของสัญญาหมั้น
สัญญาหมั้นจะกระทำด้วยวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างใดก็ได้ แต่สัญญาหมั้นจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อมีการให้ของหมั้นไว้แก่หญิงด้วย เช่น การแสดงพฤติการณ์โดยที่ชายหาซื้อแหวนเรือนทองฝังเพชรมอบให้แก่หญิง ตลอดจนการจองสถานที่จัดงานพิธีสมรสและพิมพ์บัตรเชิญงานสมรส รวมทั้งการติดต่อผู้ใหญ่ให้มาเป็นเจ้าภาพในงานพิธีมงคลสมรส โดยพฤติการณ์ดังกล่าวล้วนแล้วแต่แสดงว่าชายประสงค์จะสมรสกับหญิง ซึ่งการให้แหวนกันดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการหมั้นและเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะมีการสมรสกันในเวลาต่อมา แม้การหมั้นจะไม่ได้จัดพิธีตามประเพณีหรือมีผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายมาร่วมเป็นสักขีพยานก็เป็นการหมั้นที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย และเมื่อชายคู่หมั้นไปสมรสกับหญิงอื่นโดยมิได้สมรสกับหญิงคู่หมั้นชายคนดังกล่าวจึงต้องตกเป็นผู้ผิดสัญญาหมั้น
นอกจากการทำสัญญาหมั้นซึ่งชายได้กระทำต่อหญิงคู่หมั้นตามที่กล่าวแล้ว การทำสัญญาหมั้นจะต้องเป็นการแสดงเจตนาในการทำนิติกรรมอย่างแท้จริงที่ไม่เป็นการมีวัตุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนด้วย เช่น ปู่จะหมั้นกับหลานสาวไม่ได้ หากมีการหมั้นเกิดขึ้นถือว่าสัญญาหมั้นเป็นโมฆะ หรือกรณีที่หญิงคู่หมั้นทำสัญญาหมั้นกับชายเพราะถูกข่มขู่ ใช้กลฉ้อฉล สัญญาหมั้นดังกล่าวต้องตกเป็นโมฆียะ