หน้าแรก > คำพิพากษาศาลฎีกาน่าดู >
เรื่องจริงอิงฎีกา/ข่มขืนภรรยา
ข่มขืนภรรยาต้องรับโทษ
# หากขืนใจภริยาที่ไม่ยินยอมในการร่วมเพศก็มีความผิดข่มขืนได้
เมื่อชายและหญิงได้อยู่ร่วมกินกันอย่างสามีภริยาแล้ว ต่างฝ่ายต่างก็ต้องเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันคอยช่วยเหลืออุปการะต่อกันตามฐานะที่พึงมี หากฝ่ายใดเห็นแก่ได้หรือเห็นแก่ตัวโดยที่ไม่ถนอมต่อทั้งร่างกายและจิตใจของอีกฝ่ายหนึ่ง หากข่มเหงให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องจำยอมต่อสิ่งที่ตนเองต้องการในทางเพศโดยที่อีกฝ่ายหนึ่งอยู่ในสภาวะที่ไม่อาจขัดขืนได้ก็มีความผิดต้องรับโทษทางอาญาด้วย
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 276 ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสี่แสนบาท
....................................................................................
....................................................................................
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำความผิดระหว่างคู่สมรส และคู่สมรสนั้นยังประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติแทนการลงโทษก็ได้ ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกและคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาต่อไป และประสงค์จะหย่า ให้คู่สมรสฝ่ายนั้นแจ้งให้ศาลทราบ และให้ศาลแจ้งพนักงานอัยการให้ดำเนินการฟ้องหย่าให้
เรื่องจริงอิงฎีกา/ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 302/2559
.……แม้โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีการร่วมประเวณีกันบ้าง แต่การร่วมประเวณีต้องเกิดจากความยินยอมของทั้งสองฝ่าย หากอีกฝ่ายไม่ยินยอมก็ไม่อาจบังคับได้ หากขืนใจถือเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 276
การที่จำเลยเรียกบุตรผู้เยาว์มาฟังคำด่าจนโจทก์ยอมให้จำเลยร่วมประเวณีเพื่อให้บุตรผู้เยาว์ไปพักผ่อน เช่นนี้จะถือว่าโจทก์ยอมให้จำเลยร่วมประเวณีไม่ได้ และการที่โจทก์มดลูกอักเสบจากการร่วมประเวณีของจำเลย จำเลยทราบแต่ไม่หยุดร่วมประเวณีกับโจทก์ จนโจทก์ต้องหนีออกจากบ้านพฤติกรรมของจำเลยถือเป็นการทำร้ายหรือทรมานจิตใจโจทก์อย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3) และยังถือเป็นพฤติการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (6) ด้วย