ละเมิดลิขสิทธิ์เพราะว่าจ้างไม่ต้องรับผิด
# ว่าจ้างให้ละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ใช่ผู้เสียหาย
แม้ผู้กระทำผิดในคดีละเมิดลิขสิทธิ์ได้มีการทำซ้ำหรือดัดแปลงในงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น โดยมีผู้ว่าจ้างให้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของผู้มีลิขสิทธิ์ก็ตาม ไม่ต้องรับผิดทางอาญา
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้
“ผู้สร้างสรรค์” หมายความว่า ผู้ทำหรือผู้ก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์อย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
“ลิขสิทธิ์” หมายความว่า สิทธิแต่ผู้เดียวที่จะทำการใด ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น
“ดนตรีกรรม” หมายความว่า งานเกี่ยวกับเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อบรรเลงหรือขับร้องไม่ว่าจะมีทำนองและคำร้องหรือมีทำนองอย่างเดียว และให้หมายความรวมถึงโน้ตเพลงหรือแผนภูมิเพลงที่ได้แยกและเรียบเรียงเสียงประสานแล้ว
“โสตทัศนวัสดุ” หมายความว่า งานอันประกอบด้วยลำดับของภาพโดยบันทึกลงในวัสดุไม่ว่าจะมีลักษณะอย่างใด อันสามารถที่จะนำมาเล่นซ้ำได้อีก โดยใช้เครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการใช้วัสดุนั้น และให้หมายความรวมถึงเสียงประกอบงานนั้นด้วย ถ้ามี
“สิ่งบันทึกเสียง” หมายความว่า งานอันประกอบด้วยลำดับของเสียงดนตรี เสียงการแสดง หรือเสียงอื่นใด โดยบันทึกลงในวัสดุไม่ว่าจะมีลักษณะใด ๆ อันสามารถที่จะนำมาเล่นซ้ำได้อีกโดยใช้เครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการใช้วัสดุนั้น แต่ทั้งนี้มิให้หมายความรวมถึงเสียงประกอบภาพยนตร์หรือเสียงประกอบโสตทัศนวัสดุอย่างอื่น
“ทำซ้ำ” หมายความรวมถึง คัดลอกไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ เลียนแบบ ทำสำเนา ทำแม่พิมพ์ บันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกเสียงและภาพ จากต้นฉบับ จากสำเนา หรือจากการโฆษณาในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน สำหรับในส่วนที่เกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้หมายความถึง คัดลอกหรือทำสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์จากสื่อบันทึกใด ไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ โดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
“ดัดแปลง” หมายความว่า ทำซ้ำโดยเปลี่ยนรูปใหม่ ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม หรือจำลองงานต้นฉบับในส่วนอันเป็นสาระสำคัญโดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
เรื่องจริงอิงฎีกา/ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9600/2554
..........โจทก์นำสืบการมอบอำนาจของผู้เสียหายให้ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำละเมิดลิขสิทธิ์และการมอบอำนาจช่วง โดยมีหนังสือมอบอำนาจและหนังสือมอบอำนาจช่วงมาแสดงเป็นพยานหลักฐานต่อศาลและมีผู้รับมอบอำนาจช่วงจากผู้เสียหายมาเบิกความเป็นพยานรับรองเอกสารดังกล่าว จำเลยเพิ่งจะยกข้อเท็จจริงเรื่องลายมือชื่อผู้มอบอำนาจและผู้มอบอำนาจช่วงเป็นลายมือชื่อปลอมขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ทั้งมิได้พยายามนำสืบพยานหลักฐานให้เห็นได้ว่าข้อเท็จจริงเป็นเช่นนั้นแต่อย่างใด ที่พยานโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านใจความว่าหนังสือมอบอำนาจไม่ได้ทำต่อหน้าพยาน คงมีเฉพาะการมอบอำนาจช่วงที่ทำต่อหน้าพยานเท่านั้น เมื่อจำเลยไม่โต้แย้งคัดค้านเอกสารดังกล่าวอย่างชัดแจ้ง การที่โจทก์นำสืบโดยอ้างส่งหนังสือมอบอำนาจและหนังสือมอบอำนาจช่วง โดยมีผู้รับมอบอำนาจช่วงเบิกความรับรองประกอบนั้นจึงมีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังลำพังเพียงการถามค้านไม่มีน้ำหนักพอที่จะหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง
แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามคำเบิกความพยานโจทก์ว่า จำเลยทำบันทึกเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย อันเป็นการทำซ้ำงานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียงและโสตทัศนวัสดุอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายก็ตาม แต่การกระทำดังกล่าวเกิดจาการที่ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากผู้เสียหายว่าจ้างจำเลย โดยเป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายเพื่อให้เจ้าพนักงานจับจำเลยมาดำเนินคดีนี้ ผู้เสียหายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดดังกล่าวได้ ทั้งแผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะที่ว่าจ้างให้ทำขึ้นและวีดีโอที่บันทึกภาพเหตุการณ์การบันทึกเพลงลงแผ่นซีดีของจำเลย ถือเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบ และเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบ ต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้อง การกระทำของพยานโจทก์มิใช่การแสวงหาพยานหลักฐานดังกล่าว จึงไม่อาจลงโทษจำเลยได้