มรดกตกทอดใครได้บ้าง

 

ทรัพย์มรดก

 

มรดก

หมายถึง  ทรัพย์สิน  สิทธิ หน้าที่และความรับผิดต่างๆของเจ้ามรดกที่มีอยู่ก่อนตาย เช่น  ที่ดิน บ้าน รถยนต์ สิทธิในลิขสิทธิ์ ฯลฯ   ซึ่งมรดกต่างๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย  กองมรดกของบุคคลนั้นจะตกแก่ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมายทันที  ซึ่งเรียกว่า " ทายาทโดยธรรม "  กับทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม เรียกว่า " ผู้รับพินัยกรรม "

นอกจากทรัพย์สินและสิทธิในกองมรดกแล้ว  หากผู้ตายยังมีหนี้ก็ยังคงมีความรับผิดในการชำระหนี้ด้วย   ซึ่งเจ้าหนี้กองมรดกมีสิทธิที่จะได้รับการชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น   และเจ้าหนี้กองมรดกก็ยังสามารถที่จะบังคับตามสิทธิเรียกร้องต่อทายาทคนใดคนหนึ่งด้วยอีกก็ได้  แต่หากมีการจัดตั้งผู้จัดการมรดกแล้วเจ้าหนี้ก็มีสิทธิเรียกให้เข้ามาในคดีได้อีกด้วย      อย่างไรก็ตามแม้เจ้าหนี้จะมีสิทธิเรียกให้ชำระหนี้ได้แต่ทายาทผู้ที่มีสิทธิได้รับมรดกก็ไม่ต้องรับผิดในการชำระหนี้ของเจ้ามรดกเกินกว่าทรัพย์สินที่ตนเองได้รับจากการตกทอดทางมรดกของทายาทแต่ละคน

กองมรดกต่างๆ ที่กล่าวข้างต้น  อาจไม่เป็นมรดกหรือเป็นมรดกก็ได้  หากปรากฏว่าตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายซึ่งเป็นเจ้ามรดกโดยแท้  ดังนี้

(1) การเฉพาะตัวตามกฎหมาย   หมายถึง  สิทธิและหน้าที่ซึ่งมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะตัว เช่น

     - การที่มีบุคคลอื่นก่อให้เกิดความเสียหายต่อเจ้ามรดกทางร่างกายหรืออนามัย  เสรีภาพหรือผู้หญิงที่ต้องเสียหายจากการกระทำล่วงละเมิดทางเพศ  เป็นต้น

     - การจ้างแรงงานที่มีสาระสำคัญอยู่ที่ตัวบุคคลผู้เป็นนายจ้าง  สัญญาจ้างย่อมระงับไปด้วยความตายของนายจ้างหรือสาระสำคัญแห่งการจ้างอยู่ที่ความรู้ความสามารถของตัวผู้รับจ้าง  ถ้าผู้รับจ้างตายหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถทำการงานตามที่ได้รับจ้างต่อไปไม่ได้แล้ว

     - กรณีที่ศาลมีคำสั่งให้เป็นผู้จัดการมรดก  การที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกเป็นสิทธิเฉพาะตัวจึงไม่เป็นมรดกตกทอดต่อทายาทให้จัดการมรดกต่อไปได้

     - กรณีที่ห้างหุ้นส่วนสามัญเลิกกันเพราะหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดตายหรือล้มละลาย

     - สิทธิตามสัญญาเช่า  เมื่อผู้เช่าตาย  ทายาทของผู้เช่าไม่มีสิทธิบังคับให้ผู้ให้เช่ายอมให้ทายาทของผู้เช่าได้เช่าทรัพย์ต่อไปแทนผู้เช่าคนเดิมได้  เช่น  นายหนึ่งเช่าบ้านกับนายสามมีกำหนดเวลา 24 เดือน  ต่อมานายหนึ่งตายในเดือนที่ 6 สัญญาเช่าระงับ   นายสองซึ่งเป็นลูกของนายหนึ่งจึงไม่มีสิทธิอยู่ในบ้านเช่าแม้จะยังไม่ครบกำหนดเวลาเช่า  24  เดือน  ก็ตาม    และแม้หากว่านายสองได้อยู่ในบ้านเช่าต่อมาโดยนายสามยินยอมให้อยู่และรับเงินค่าเช่าเรื่อยมาทุกเดือนจากนายสองโดยไม่มีใบเสร็จรับเงินและไม่ได้ทำสัญญาเช่าต่อกัน     นายสองก็ไม่มีสิทธิอ้างการเช่าโดยอาศัยสิทธิของนายหนึ่งได้   ดังนั้น เมื่อนายสามประสงค์จะให้นายสองออกจากบ้านเมื่อใดก็ย่อมจะขับไล่ให้ออกได้ทันทีโดยไม่ต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้าแต่อย่างใด

(2) การเฉพาะตัวโดยสภาพ   หมายถึง  สิทธิและหน้าที่ซึ่งโดยสภาพแล้วผู้ตายจะเป็นผู้ใช้หรือกระทำด้วยตนเองแต่ผู้เดียวเท่านั้น   เช่น

     - สิทธิในการสมัครรับเลือกตั้ง

     - สิทธิในการได้รับปริญญาบัตร  ประกาศนียบัตรหรือคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิในการสมัครสอบแข่งขันเข้ารับราชการ

     - สิทธิที่จะได้รับอนุญาตให้เป็นผู้มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์  ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ฯ   ใบอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนทนายความ ตาม พ.ร.บ.ทนายความ ฯ    ใบอนุญาตให้มีอาวุธปืน ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯ  เป็นต้น

     - สิทธิเกี่ยวกับการถอนคำร้องทุกข์และการฟ้องคดีอาญา     

ดังนั้น     เมื่อมรดกหมายถึง  ทรัพย์สิน  สิทธิ หน้าที่และความรับผิดต่างๆของเจ้ามรดกที่มีอยู่ก่อนตายแล้ว    การที่มีบุคคลใดบุคคลหนึ่งตายทายาทโดยธรรมหรือทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม ย่อมร้องขอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งให้เป็นผู้มีหน้าที่จัดการมรดกของผู้ตายตามกฎหมายต่อไปได้

 

***เป็นคดีมีปัญหามรดก  รีบปรึกษา  เราพาร้องจัดการมรดก  Tel. 093-131-5663

Visitors: 58,515