ทรัพย์สินระหว่างอยู่ในสมณเพศ

 

# พระภิกษุสงฆ์เมื่อมรณภาพทรัพย์สินตกเป็นของวัดหรือทายาท

เมื่อพระภิกษุสงฆ์ถึงแก่มรณภาพในระหว่างที่อยู่ในสมณเพศ    ทรัพย์สินต่าง ๆ ของพระซึ่งถึงแก่ความตายจะตกทอดถึงแก่ทายาทโดยธรรมได้ก็เฉพาะทรัพย์สินนั้นได้มีมาก่อนที่บวชเป็นพระภิกษุสงฆ์แต่หากพระรูปนั้นบวชเป็นพระไม่ว่าจะจำวัดอยู่ในวัดแห่งไหนเมื่อมีทรัพย์สินใด ๆ  ขึ้นมาในระหว่างที่ครองสมณเพศแล้ว   เมื่อพระรูปนั้นถึงแก่ความตายทรัพย์สินทั้งหมดจะต้องตกเป็นของวัดที่พระรูปนั้นมีภูมิลำเนาอยู่เท่านั้น   เว้นเสียแต่ว่าจะได้ทำพินัยกรรมยกให้แก่บุคคลอื่น

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1623 ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น  เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพ  ให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น  เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรม

มาตรา 1629 ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรค 2 แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

(2) บิดามารดา

(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน

(5) ปู่ ย่า ตา ยาย

(6) ลุง ป้า น้า อา

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635

 

เรื่องจริงอิงฎีกา/  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12743/2556

.......... ทายาทที่จะถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727  วรรคหนึ่ง  นั้น  หมายถึง   ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายจริงเพียงแต่เป็นทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629  หากไม่มีสิทธิได้รับมรดกเพราะผู้ตายทำพินัยกรรมหรือเสียสิทธิในการรับมรดก  ก็ไม่ถือว่าเป็นทายาทอันเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก   ข้อเท็จจริงได้ความว่า  ผู้ตายไม่มีทรัพย์สินที่ได้มาก่อนเป็นพระภิกษุจึงไม่มีมรดกตกได้แก่ทายาทโดยธรรมคือผู้คัดค้านซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมตาม  ป.พ.พ. มาตรา 1629 (1)ส่วนทรัพย์สินของผู้ตายที่ได้มาระหว่างอยู่ในสมณเพศ  เมื่อผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมย่อมเป็นมรดกตกได้แก่วัดที่ผู้ตายที่ผู้ตายมีภูมิลำเนา   ขณะถึงแก่ความตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1623  ดังนั้น   ผู้คัดค้านย่อมเสียสิทธิในการรับมรดกคือทรัพย์สินของผู้ตายที่ได้มาระหว่างอยู่ในสมณเพศดังกล่าว  ดังนี้ ผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ทายาทของผู้ตายอันจะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการร้องขอให้ถอนผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง  รวมทั้งไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 ด้วย เพราะคำว่าทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713  นั้น  หมายถึง ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกจริงเช่นกัน

 

 

 

Visitors: 58,515