บัตรเครดิตที่ขาดอายุความ 2 ปี ไม่ต้องชำระหนี้
# บัตรเครดิตที่สิทธิเรียกร้องขาดอายุความ
บัตรเครดิต หรือ บัตรสินเชื่อ เป็นวัตถุอย่างหนึ่งซึ่งสถาบันการเงินต่าง ๆ ได้จัดทำให้บริการโดยออกให้แก่ลูกค้า เพื่อนำไปใช้แทนเงินสดในการชำระค่าสินค้าบริการต่าง ๆ รวมถึงสามารถนำไปใช้เพื่อเบิกเงินสดจากตู้เบิกเงินอัตโนมัติได้ด้วย และสถาบันการเงินผู้ออกบัตรเครดิตให้นั้นมีสิทธิเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามสัญญาและตามที่กฎหมายกำหนด โดยการใช้บัตรเครดิตถือว่าเป็นวัตถุซึ่งสะดวกและปลอดภัยในการใช้จ่ายแทนเงินสด แต่ความสะดวกความสบายในการใช้บัตรเครดิตนั้น หากผู้ถือบัตรเครดิตขาดวินัยในการใช้อย่างไร้เหตุผลหรือใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยเกินอัตรากำลังการชำระหนี้ที่พึงมีในการชำระหนี้ต่อสถาบันการเงินผู้ออกบัตรเครดิตได้แล้ว นอกจากหนี้เงินต้นในการนำไปใช้จ่ายที่ต้องชำระแก่เจ้าหนี้แล้วผู้ถือบัตรเครดิตอาจยังต้องเสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในค่าปรับ ค่าดอกเบี้ยผิดนัด ค่าติดตามทวงถามเป็นจำนวนมาก หากผู้ใช้ผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องที่จะบังคับให้ลูกหนี้ผู้ถือบัตรเครดิตชำระหนี้ได้ภายในกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด แต่ถ้าหากเจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้เกินกว่าสองปีแล้ว หนี้บัตรเครดิตนั้นย่อมขาดอายุความ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 193/34 สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความสองปี
(7) บุคคลซึ่งมิได้เข้าอยู่ในประเภทที่ระบุไว้ใน (1) แต่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของผู้อื่นหรือรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างอันจะพึ่งได้รับในการนั้น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
เรื่องจริงอิงฎีกา/ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7494/2549
..................จำเลยที่ 1 ได้สมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิตของโจทก์และยอมให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือบัตรเสริม โดยจำเลยทั้งสองสามารถนำบัตรเครดิตไปใช้แทนเงินสดในการชำระค่าสินค้าบริการต่าง ๆ ตลอดจนเบิกเงินสดจากตู้เบิกเงินอัตโนมัติ ซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งนี้ โจทก์จะออกเงินทดรองแทนไปก่อนแล้วจะเรียกเก็บจากจำเลยทั้งสองในภายหลัง จำเลยทั้งสองได้นำบัตรเครดิตไปชำระค่าสินค้า ค่าบริการ รวมทั้งเบิกถอนเงินเรื่อยมา โจทก์ได้ชำระแทนจำเลยทั้งสองแล้ว และการให้บริการดังกล่าวของโจทก์ โจทก์ได้เรียกเก็บค่าบริการและค่าธรรมเนียมด้วย โจทก์จึงเป็นผู้รับทำการงานต่าง ๆ ให้แก่จำเลยทั้งสอง และการที่โจทก์ได้ชำระเงินแก่เจ้าหนี้ของจำเลยทั้งสองแทนจำเลยทั้งสองไปก่อน แล้วจึงเรียกเก็บเงินจากจำเลยทั้งสองในภายหลัง เป็นการเรียกเอาค่าที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองไป ดังนั้น สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) เมื่อพิจารณาใบแจ้งยอดบัญชีเครดิต จำเลยที่ 1 ใช้บัตรเครดิตของโจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2539 ครบกำหนดชำระหนี้ 10 ตุลาคม 2539สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2539 ดังนั้น อายุความที่โจทก์จะต้องฟ้องร้องหนี้บัตรเครดิตที่จำเลยที่ 1 ใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2539 จึงถึงวันที่ 11 ตุลาคม 2541 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2547 ซึ่งหลังครบกำหนดอายุความแล้วสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 ที่ใช้บัตรหลักจึงขาดอายุความ