เลิกจ้างทดลองงานต้องบอกกล่าวล่วงหน้า

 

# เมื่อเลิกจ้างตามสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาต้องบอกกล่าวล่วงหน้า

เมื่อนายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยมีกำหนดเวลา 120  วัน  เป็นระยะเวลาทดลองงาน  หากทำงานไม่เป็นที่พอใจนายจ้างเลิกจ้างทันทีโดยไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ได้

 

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 17 สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า

ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา  นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ  ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด  เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้  แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน

.....................................

.....................................

การบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรานี้ไม่ใช้บังคับแก่การเลิกจ้างตามมมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัตินี้ และมาตรา 583 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

เรื่องจริงอิงฎีกา/  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5249/2545

.........สัญญาจ้างระหว่างบริษัทโจทก์กับ ส. ที่ระบุว่า  ในระยะเวลา 120  วัน  นับจากวันเริ่มปฏิบัติงานให้ถือว่าเป็นระยะเวลาทดลองงาน  บริษัทชอบที่จะเลิกจ้างลูกจ้างเมื่อใดก็ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย  และไม่ต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าหลังจาก 120 วัน  หากผลการปฏิบัติงานเป็นที่น่าพอใจก็จะบรรจุลูกจ้างเป็นพนักงานประจำนั้น  หมายความว่า  นายจ้างตกลงจ้างลูกจ้างโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน  แต่ข้อตกลงที่ให้สิทธิโจทก์เลิกจ้าง ส. เมื่อใดก็ได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ ส.  ทราบล่วงหน้านั้น  ขัดต่อ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17  วรรคสอง  ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150  เมื่อโจทก์เลิกจ้าง ส.  โดยไม่เข้าเหตุตามมาตรา 17  วรรคหนึ่งและวรรคท้าย  โจทก์จึงต้องบอกเลิกสัญญาจ้างเป็นหนังสือให้ ส. ทราบเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใดเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญาเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า  เมื่อโจทก์กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน    โจทก์บอกเลิกจ้าง ส. โดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าเมื่อวันที่  26  เมษายน 2544  ซึ่งเป็นการบอกเลิกจ้างก่อนวันที่ 30  เมษายน 2544  ซึ่งเป็นวันถึงกำหนดจ่ายค่าจ้าง  การบอกเลิกจ้างของโจทก์ดังกล่าวจึงมีผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างในวันที่  31  พฤษภาคม  2544  ซึ่งเป็นวันถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า   โจทก์ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ ส. เป็นเวลา 35  วัน

 

# หนังสือเตือนสำหรับลูกจ้างที่กระทำผิดเป็นอย่างไร

เมื่อลูกจ้างฝ่าฝืนหรือขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย  หากไม่ต้องการจ่ายค่าชดเชยต้องมีหนังสือเตือนกับลูกจ้างด้วย

 

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 119 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้

(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือ เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน

เรื่องจริงอิงฎีกา/  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5222/2545

........หนังสือเตือนนอกจากจะมีข้อความซึ่งแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างให้เพียงพอที่ลูกจ้างจะเข้าใจการกระทำนั้นของตนได้แล้ว ก็จะต้องมีข้อความที่มีลักษณะเป็นการเตือนโดยห้ามไม่ให้ลูกจ้างกระทำการเช่นนั้นซ้ำอีกด้วย   แม้หนังสือเตือนของจำเลยจะมีข้อความแสดงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับการที่โจทก์ฝ่าฝืนหรือขัดคำสั่งของจำเลยเพียงพอที่โจทก์จะเข้าใจการกระทำของโจทก์ได้ แต่ไม่มีข้อความที่มีลักษณะเป็นการเตือนโดยห้ามไม่ให้โจทก์กระทำเช่นนั้นซ้ำอีก  คงมีแต่คำว่า  " ใบเตือนครั้งที่ 1 "  และ  " ใบเตือนครั้งที่ 1 "  อยู่ด้านบนของเอกสาร เอกสารดังกล่าวจึงเป็นเพียงหนังสือของจำเลยที่แจ้งการฝ่าฝืนหรือขัดคำสั่งของโจทก์ให้โจทก์ทราบเท่านั้น  ไม่เป็นหนังสือเตือนตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 (4)

Visitors: 51,481